เฉลยก่อนนะครับสำหรับคนใจร้อน ไม่ผิดนะครับเพราะกฎกระทรวงได้ถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อ 15 พฤษภาคม 2544 ครับ สำหรับคนที่อยากรู้ที่มาที่ไป สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ด้านล่างครับ
เริ่มตั้งแต่ปี 2538 ก่อนนะครับ เนื่องจากมีความกังวลว่าความเข้มของฟิล์มจะมีส่วนในเรื่องของอาชญากรรมและความปลอดภัยในการขับขี่ก็เลยมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนตร์ พ.ศ. 2522 โดยมีเนื้อหาสำคัญว่าห้ามติดฟิล์มที่มีแสงส่องผ่านน้อยกว่า 40% และห้ามติดฟิล์มเกินพื้นที่ 25% ของกระจกบังลมหน้า
แต่รัฐบาลก็ใจดีนะครับก็ยังให้ผ่อนผันและปรับตัวไปอีก 3 ปีก็คือเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2541 ครับ
พอเวลาผ่านไปเรื่องการบังคับใช้ก็ยังคงเป็นไปด้วยความยากลำบากไม่ว่าข้อจำกัดในเรื่องของอุปกรณ์วัดค่าและอื่นๆ ก็เลยมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 32 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนตร์ พ.ศ. 2522 อีก โดยมีเนื้อหาสำคัญคือเลื่อนวันบังคับใช้ไปเป็น 1 มิถุนายน 2543 แทนครับ
เมื่อถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2543 ทางรัฐบาลก็เริ่มเอาจริงโดยมติคณะรัฐมนตรีให้เริ่มบังคับใช้แต่ให้เวลา 1 ปีในการทำความเข้าใจและประชาชนและผู้ประกอบการปรับตัว สรุปเริ่มจริงๆ 1 มิถุนายน 2544
แต่การปฎิบัตินั้นไม่ได้ง่ายบวกกับบ้านเราก็เป็นเมืองร้อน จะไปทำแบบฝรั่งก็ไม่ได้ครับ ดังนั้นในวันที่ 1 พฤษาภาคม 2544 ทางคณะรัฐมนตรีก็เลยอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ คือยกเลิกกฎกระทรวงเกี่ยวกับฟิล์มกรองแสงครับด้วยเหตุผลต่างๆเช่น เรื่องของความไม่พร้อมของอุปกรณ์ตรวจวัด เรื่องความไม่พร้อมของสถานตรวจสภาพรถ เรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากเปลี่ยนฟิล์มและที่สำคัญยังไม่มีการศึกษาเพียงพอว่าความเข้มของฟิล์มมันมีผลต่ออาชญากรรมและอุบัติเหตุมากน้อยแค่ไหน
และในวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ก็ได้ออกมาเป็นกฎกระทรวง ฉบับที่ 38 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนตร์ พ.ศ. 2522 ที่ได้ยกเลิกเรื่องเกี่ยวกับข้อกำหนดความเข้มของฟิล์มกรองแสงและพื้นที่ของกระจกบังลมหน้าที่ห้ามติดฟิล์มสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล
สรุปคือติดฟิล์มดำไม่ผิดนะครับแต่อย่างไรก็ตามการติดฟิล์มกรองแสงที่ฉาบปรอทนั้น มีความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ฯ ดังนี้ ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 12 รถใดที่จดทะเบียนแล้ว หากปรากฏในภายหลังว่า รถนั้นมีส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์สำหรับรถไม่ครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกระทรวง หรือเพิ่มเติมสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าไปซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย หรือจิตใจของผู้อื่นห้ามมิให้ผู้นั้นใช้รถจนกว่าจะจัดให้มีถูกต้องครบถ้วนหรือเอาออก มาตรา 60 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ... ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
Comments